1. แนะแนวด้านการเรียนหรือการศึกษา
ซึ่งมีขอบข่ายงานตั้งแต่การสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียน การฝึกทักษะหรือเทคนิคการเรียนที่มีประสิทธิภาพ การวางแผนการเรียนที่ดีการรู้ช่องทางการศึกษาและ การเลือกทางศึกษาต่อ ตลอดทั้งการสร้างนิสัยเรียนรู้ตลอดชีวิต
2. แนะแนวอาชีพ
ซึ่งมีขอบข่ายงานตั้งแต่การสร้างเจตคติที่ดีต่อการทำงาน และการประกอบอาชีพ การสร้างความตระหนัก รับรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของโลกอาชีพ การสำรวจอาชีพ การตัดสินใจและ วางแผนด้านอาชีพ การเตรียมตัวเพื่ออาชีพ การเข้าสู่อาชีพและการพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ ตลอดทั้งการปรับตนในการทำงาน
3. แนะแนวด้านชีวิตและสังคม
ซึ่งมีขอบข่ายงานตั้งแต่การรู้จักตนเอง รู้จักชีวิตและสังคมที่ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การรู้จักตนเองและรู้คุณค่าของตน การรู้จักปรับตัวและแก้ปัญหาการพัฒนาตนเอง การฝึกทักษะชีวิตและทักษะทางสังคม เพื่อให้มีบุคลิกภาพ สุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี
1. บริการศึกษาข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคล ( Individual Inventory Service )
เป็นบริการที่ช่วยให้ครูรู้จักและเข้าใจนักเรียนมากขึ้นด้วยความตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยใช้เทคนิคและวิธีการต่างๆ ในการศึกษาข้อมูลของนักเรียนทุกด้าน ทั้งด้านส่วนตัว ครอบครัว สุขภาพ การเรียน สังคม ความสามารถ ความถนัด ความสนใจ บุคลิกภาพ ฯลฯ และมีการศึกษาและรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ
ด้วยลักษณะงานของการจัดบริการศึกษาข้อมูลนักเรียนของครูแนะแนว เป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนด้วย โดยการช่วยจัดหาเครื่องมือที่ง่ายและสะดวกต่อการศึกษารวบรวมข้อมูลนักเรียนสำหรับครูที่ปรึกษา เช่น แบบสอบถามข้อมูลประวัติส่วนตัวนักเรียนด้านต่าง ๆ แบบบันทึกการเยี่ยมบ้าน แบบสังเกตพฤติกรรม แบบสัมภาษณ์นักเรียน และผู้ปกครอง เป็นต้น แนะนำการใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาอื่น ๆ เพื่อการรู้จักนักเรียนเพิ่มเติม เช่น แบบประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน (SDQ) และประสานแจ้งผลการสำรวจ /การทดสอบทางจิตวิทยาและการแนะแนวให้ครูที่ปรึกษาทราบ เช่น ผลจากการประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (EQ ผลจากการวัดทางสุขภาพจิต ผลการสำรวจบุคลิกภาพ ผลการสำรวจทิศทางความสนใจในอาชีพ
2. บริการสนเทศ ( Information Service )
เป็นการจัดบริการข่าวสารข้อมูลด้านการศึกษาด้านอาชีพ ด้านส่วนตัวและสังคมแก่นักเรียน
เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และการวางแผนการศึกษาต่อและอาชีพ ตลอดจนการดำเนินชีวิตของนักเรียน โดยจัดนำเสนอข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เช่น ป้ายนิเทศ สื่ออิเลคทรอนิกส์ การจัดนิทรรศการ การเชิญวิทยากร การศึกษาดูงาน เป็นต้น
การจัดบริการสนเทศทั้ง 3 ด้าน ดังกล่าวข้างต้น จะเป็นประโยชน์เชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมแนะแนวได้อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนานักเรียนก็มีขอบข่าย 3 ด้านนี้เช่นกัน อีกทั้งยังเป็นประโยชน์เชื่อมโยงไปยังงานในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เนื่องจากสามารถช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการป้องกันส่งเสริมและพัฒนานักเรียนทุกคนได้
3. บริการให้การปรึกษา ( Counseling Service )
เป็นการจัดกระบวนการที่มีหลักการ ขั้นตอน และจุดมุ่งหมายในการปรึกษาที่ชัดเจนตามหลักการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ช่วยให้นักเรียนรู้จัก เข้าใจ ยอมรับตนเองและปัญหาที่กำลังเผชิญ ได้เรียนรู้และค้นหาเหตุแห่งปัญหา หาทางจัดการกับปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง อีกทั้งจัดการศึกษารายกรณี และประสานการจัดประชุมปรึกษารายกรณี เพื่อการช่วยเหลือนักเรียนอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การจัดบริการให้การปรึกษา ควรครอบคลุมด้านการศึกษาต่อ ด้านอาชีพ ด้านส่วนตัวและสังคม เช่นกัน โดยมีความเชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมแนะแนว คือเป็นบริการที่รองรับการให้การช่วยเหลือนักเรียนที่ครูแนะแนวพบว่ามีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือมีเรื่องที่ควรได้รับการแก้ไข ช่วยเหลือหรือพัฒนา จากการสังเกตพฤติกรรมนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมแนะแนว การแสดงออก หรือชิ้นงานที่นักเรียนทำ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์เชื่อมโยงไปยังงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนในส่วนของการให้ความร่วมมือช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มมีปัญหาด้วยตนเอง ตลอดจนประสานการส่งต่อนักเรียนจากครูที่ปรึกษาทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน กรณีที่ยากต่อการช่วยเหลือของครูที่ปรึกษา
4. บริการจัดวางตัวบุคคล (Placement Service )
เป็นบริการที่จัดเพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ ได้รับการช่วยเหลือ หรือได้รับการฝึกฝนตามแต่กรณี โดยจัดความช่วยเหลือนักเรียนในรูปแบบวิธีการที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา ด้านอาชีพ ด้านส่วนตัวและสังคม เช่น ช่วยเหลือนักเรียนในการเลือกเรียนแผนการเรียนที่เหมาะสม ได้ร่วมกิจกรรมที่ตอบสนองต่อความถนัด ความสามารถและความสนใจ การช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องการทำงานพิเศษ การจัดหาทุนการศึกษาและทุนอาหารกลางวัน เป็นต้น
ด้วยลักษณะของการบริการจัดวางตัวบุคคลดังกล่าว จึงเป็นประโยชน์เชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมแนะแนว และการประสานช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนได้เช่นกัน
5. บริการติดตามผล ( Follow-up Service )
เป็นบริการที่มีระบบ ขั้นตอน ในการติดตามประเมินผลคุณภาพการให้บริการ การจัดกิจกรรมแนะแนว และการจัดงาน โครงการต่างๆ ของงานแนะแนวเพื่อนำผลที่ได้ไปแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาการวางแผนงานแนะแนวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
6. งานสอนกิจกรรมแนะแนว
6.1 การจัดการเรียนการสอนกิจกรรมแนะแนวในระดับชั้นมัธยมศึกษา กำหนดให้สอนสัปดาห์ละ 1 คาบ
6.2 จัดแผนพัฒนาการสอนวิชากิจกรรมแนะแนว
6.3 ในคาบเรียนและการปฏิบัติกิจกรรมให้มีการบันทึกพฤติกรรมของนักเรียนโดยให้นักเรียนประเมิน ตนเอง ให้เพื่อนประเมินและอาจารย์ผู้สอนประเมินให้นักเรียนทราบเป็นระยะ
7. งานอื่นๆ
7.1 งานที่ได้รับมอบหมายจากทางโรงเรียนหรืองานพิเศษ
7.2 งานประชุมครูแนะแนวเพื่อปรึกษาหารือและพัฒนางานแนะแนว
7.3 งานดูแลห้องแนะแนวและเก็บรักษาเครื่องมือทางการแนะแนว
7.4 งานติดต่อประสานงานกับสถาบันต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อการศึกษาต่อ และอาชีพ
7.5 งานบริการและเผยแพร่ความรู้ผลงานทางวิชาการแก่ชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ
การปฏิบัติงานแนะแนวในสถานศึกษา แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะดังต่อไปนี้
1. การจัดบริการแนะแนวอย่างเป็นระบบโดยมีบริการครบ 5 บริการและครอบคลุมงานแนะแนวทั้ง 3 ประเภท ทั้งนี้ต้องมีการกำหนดผู้รับผิดชอบอยู่ในโครงสร้างการบริหารของโรงเรียน และ ต้องมีโครงการแผนงาน งบประมาณที่แสดงถึงการปฏิบัติงานที่ต่อเนื่องทั้งปี
2. การจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตร ที่กำหนดให้สถานศึกษาต้องจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (ซึ่งแบ่งเป็นกิจกรรมแนะแนวและกิจกรรมนักเรียน)และถือเป็นส่วนสำคัญในการจบหลักสูตร
3. การประยุกต์ใช้หลักการแนะแนวและกระบวนการแนะแนว ในการจัดหลักสูตร และพัฒนาการเรียนการสอน การปกครองดูแลที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
กิจกรรมการเรียนรู้ในคาบแนะแนว
1. เป็นกิจกรรมที่ไม่เน้นเนื้อหาวิชาและกระบวนการวัดผลการเรียนเหมือนการเรียนการสอน ในวิชาทั่วไป
2. เป็นการรวมกลุ่มของนักเรียนเพื่อทำกิจกรรมอันจะช่วยให้นักเรียนเกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆและ สามารถแก้ปัญหาได้
3. ไม่มีหน่วยการเรียน
4. เป็นกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนได้ค้นพบความถนัด ความสามารถ ความสนใจของตน
5. เป็นกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ด้านการศึกษา การศึกษาต่อและอาชีพ เพื่อวางแผน การศึกษาและเลือกอาชีพที่เหมาะสม สอดคล้อกับความถนัดและความสนใจของตน
6. เป็นกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนพัฒนาบุคลิกภาพ การปรับตัว รู้จักตนเอง สิ่งแวดล้อมและสามารถ ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
7. เป็นกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อปลูกฝังค่านิยมที่เป็นพื้นฐาน เช่น ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สะอาด รับผิดชอบ สามัคคี กตัญญู
8. เป็นกิจกรรมเพื่อเสริมให้นักเรียนมีความรู้และทักษะวิชาต่าง ๆ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มีเจตคติที่ดีต่อสัมมาชีพ มีนิสัยรักการทำงาน
การแนะแนวแบบมีส่วนร่วม
งานแนะแนวเป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ฉะนั้นทุกคนจึงควรมีส่วนร่วม เพื่อความ ราบรื่นในการทำงาน และประสานงานร่วมมือกัน จึงควรได้มีการตกลงในบทบาทความรับผิดชอบร่วมกัน ดังนี้
1. ผู้บริหารสถานศึกษา ในฐานะที่ผู้บริหารมีอำนาจในการตัดสินใจและสั่งการเพื่อให้เกิดการปฏิบัติงาน ฉะนั้นผู้บริหารจึงมีความสำคัญสูงสุดต่อความสำเร็จของงาน ผู้บริหารที่ดีจึงควรมี บทบาทความรับผิดชอบดังต่อไปนี้
1.1. เป็นผู้ริเริ่ม สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการจัดบริการแนะแนว ในสถานศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการกำหนดนโยบายแผนงาน โครงการให้ครอบคลุมงานทั้งหมด จัดบุคลากรที่เหมาะสม กำหนดบทบาทความรับผิดชอบทุกฝ่ายอย่างชัดเจน จัดหาปัจจัย จัดสภาพแวดล้อม สถานที่ อุปกรณ์งบประมาณ ที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน และมีการกำกับดูแลติดตามดูแลเพื่อให้การดำเนินงานแนะแนวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์กับเด็กทุกคน
1.2. เป็นผู้แก้ปัญหาและให้คำปรึกษาแก่บุคลากรในสถานศึกษารวมทั้งผู้ปกครอง
1.3. เป็นผู้อำนวยความสะดวก และกระตุ้นจูงใจให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันโดยมีการพัฒนาบุคลากร อย่างต่อเนื่องและมีการสร้างแรงจูงใจให้แรงเสริม สร้างขวัญ และกำลังใจในการ ปฏิบัติงานแก่ทุกคนอย่างทั่วถึง
1.4. เป็นแกนกลางในการประสานงานกับทุกฝ่าย
2. ครูแนะแนว เป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อการจัดระบบงานแนะแนวในสถานศึกษาโดยมี บทบาทสำคัญ ดังนี้
2.1. เป็นผู้วางแผนและจัดทำโครงการแนะแนว เพื่อเสนอผู้บริหาร ตามนโยบายของ สถานศึกษา โดยมีการสำรวจสภาพแวดล้อม และข้อมูลจากนักเรียนทุกคน ในสถานศึกษา เพื่อให้การวางแผน และโครงการตอบสนอง ต่อปัญหาและความต้องการของนักเรียน และชุมชน
2.2. เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน การประสานงาน และติดตามประเมินผลในการจัดบริการแนะแนว ให้ครอบคลุม 5 บริการ 3 ประเภท ตามแผนงานและโครงการที่กำหนด
2.3. เป็นผู้จัดทำแผนการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรและกิจกรรม ส่งเสริมหรือบำบัดพิเศษ เฉพาะรายเฉพาะกลุ่ม
2.4. เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ครูผู้ปกครอง นักเรียน ที่มีปัญหาซับซ้อน เกินความสามารถของครูที่ปรึกษา หรือส่งต่อเด็กไปยังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หากปัญหานั้นเกินความสามารถของตน
2.5. จัดทำแผนและดำเนินการในการพัฒนาครูหรือบุคลากรแนะแนวในสถานศึกษา
3. ครูที่ปรึกษาหรือครูประจำชั้น เป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุดและมีความรับผิดชอบโดยตรง ต่อนักเรียน ที่ได้รับมอบหมาย ฉะนั้นครูที่ปรึกษา หรือครูประจำชั้น จึงมีบทบาท หน้าที่ดังต่อไปนี้
- การดูแลเด็กโดยทั่วไป (การเช็คเวลาเรียน การปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียน ฯลฯ)
- การศึกษาหาข้อมูลรายบุคคลเพื่อการรู้จักและคัดกรองเด็ก
- การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมโฮมรูม
- การให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหา
- กาสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน โรงเรียน และการติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้อง
- การประเมินคุณภาพ พัฒนาการ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็ก
4. ครูทั่วไป เนื่องจากครูทุกคนมีหน้าที่สอนและดูแลเด็กอยู่แล้ว ฉะนั้นบทบาทหน้าที่ของครูทุกคน มีดังนี้
- ช่วยกันดูแลให้ความอบอุ่นแก่เด็ก เพื่อป้องกัน ปัญหาที่จะเกิดกับ เด็กหรือไม่สร้างความกดดัน ให้เด็กเกิดปัญหา
- ช่วยเหลือแก้ปัญหาและให้คำปรึกษาแก่เด็ก เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามกำลังความสามารถโดย ไม่เกี่ยงหรือปัดความรับผิดชอบไปที่ครูแนะแนว หรือครูที่ปรึกษาเท่านั้น
- สอนหรืออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ โดยใช้หลักการและวิธีการแนะแนวที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ
- ช่วยจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาผู้เรียน
5. ผู้ปกครอง เนื่องจากผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบต่อบุตรหลานของตนเต็มที่ ฉะนั้นผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยปละละเลย เข้มงวด หรือทะนุถนอมจนเกินไป จนเด็กมีนิสัยไม่ดีขาดความรับผิดชอบ
- เป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างสภาพแวดล้อม ประสบการณ์ให้เด็กได้สัมผัสกับตัวอย่างที่ดี
- ร่วมมือกับสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก โดยไม่ปัดความรับผิดชอบไปให้สถานศึกษาฝ่ายเดียว รวมทั้งเสียสละช่วยเหลือเพื่อพัฒนาสถานศึกษาตามกำลังความสามารถ
พัฒนาการของนักเรียน
การจัดกิจกรรมแนะแนวเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาพัฒนาการเนื่องจากนักเรียนอยู่ในช่วงวัยรุ่น มีพัฒนาการตามวัยของตน แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ซึ่งพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของนักเรียน มีดังนี้ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้นมัธยมศึกษาปี ที่ 1-3 ( อายุ12-15 )
ลักษณะทางร่างกาย
- เด็กส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะเด็กหญิงเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่า เด็กชาย ในวัยนี้จึงมักมี ปัญหาเรื่องการปรับตัว
- มีลักษณะเก้งก้าง ทำอะไรดูขัดตาไปหมดทั้งนี้เพราะเด็กคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลง เรื่องรูปร่างหน้าตา มากเกินไป
ลักษณะทางอารมณ์
- ค่อนข้างเจ้าอารมณ์และมีอารมณ์ไม่แน่นอน ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และความ สับสนในบทบาทของตนเองว่า เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่กันแน่
- จะขาดความมั่นใจในตนเอง และมักแสดงพฤติกรรมออกมาในลักษณะต่าง ๆ เช่น ทำเสียงดัง แสดง ความเป็นผู้นำหรือยึดความเห็นของตัวเองเป็นสำคัญ
- การแสดงอารมณ์โกรธเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กวัยรุ่นซึ่งจะมาจากความเครียดทางจิต และความไม่ สมดุลทางชีวภาพ
ลักษณะทางสังคม
- ต้องการอิสระและยอมปฏิบัติตาม ข้อตกลงของกลุ่มมากกว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่
- เป็นวัยที่กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพล อย่างยิ่ง จะไวว้างใจเพื่อนมากกว่าพ่อแม่
- เป็นวัยที่ขาดความมั่นใจ เด็กจึงมักทำอะไร คล้ายๆกับกลุ่ม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ เช่น การแต่งกาย การแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ
- เด็กหญิงมีพัฒนาการทางสังคมเร็วกว่าเด็กชาย
ลักษณะทางสติปัญญา
- ช่วงความสนใจของเด็กวัยนี้นานขึ้น สามารถทำกิจกรรมที่ยากๆ ได้
- สามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องศีลธรรม จรรยาต่าง ๆ
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ชั้นมัธยมศึกษาปี ที่ 4- 6 (16 – 18 ปี)
ลักษณะทางร่างกาย
- มีความเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่และสนใจในร่างกายของตนเอง จะหมกมุ่นอยู่กับการแต่งตัว
- สุขภาพของเด็กโดยทั่วไปจะสมบูรณ์เต็มที่ เริ่มมีพัฒนาการทางเพศ ต่อมต่าง ๆ เจริญเติบโตองเต็มที่ ลักษณะทางอารมณ์
- ต้องการความอิสระมากขึ้น จึงมีปัญหาขัดแย้งกับพ่อแม่อยู่เสมอ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย
- จะมีการแสดงออกที่แข็งกร้าว ซึ่งเป็นลักษณะของการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่
- เป็นวัยเพ้อฝัน โดยเฉพาะเรื่องอนาคต
ลักษณะทางสังคม
- มีลักษณะชอบทำ ตามกลุ่มมีการขัดแย้งกับผู้ใหญ่มากขึ้น มีความนิยมหรือคลั่งไคล้อะไรเหมือนๆ กัน ซึ่งบางครั้งอาจมากเกินไป
- เด็กผู้หญิงมีความก้าวหน้าในด้านสังคมมากกว่าเด็กผู้ชายในวัยเดียวกัน เริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม มีความคิดเรื่องการมีนัดและการแต่งงาน
ลักษณะทางสติปัญญา
- พัฒนาการทางสมองสูงเกือบเท่าผู้ใหญ่เพียงแต่ขาดประสบการณ์
- เป็นวัยที่คำนึงถึงการมี “ ปรัชญาชีวิต ” โดยมุ่งเกี่ยวกับศีลธรรม จรรยา ศาสนา แต่ยังมีความสับสนอยู่