พระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๗

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งพระนาม “สิริกิติ์” ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร” พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ 

          วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙  อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์จะผนวชเป็นพระภิกษุ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวชและทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช และได้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถ สนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเฉลิมพระนามาภิไธยว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ดังปรากฏเนื้อความในประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยว่า “…โดยที่ทรงพระราชดำริด้วยพระราชหฤทัยประกอบด้วยพระกตัญญูกตเวทิตา ระลึกถึงพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนี อันได้มีมาเป็นล้นพ้นยิ่งกว่าผู้อื่น และทรงพระราชดำริว่า พระบรมราชชนนีเป็นผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันได้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและพสกนิกรเป็นอเนกปริยาย มีพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาธิคุณ เสด็จออกสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎรทั่วทุกแห่งหนแม้ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ด้วยพระวิริยอุตสาหะอย่างยิ่งยวด โดยทรงดำเนินพระราชจริยวัตรด้วยพระราชปณิธานแห่งธรรมราชินี ในศุภสมัยอันเป็นมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ สมควรจะเฉลิมพระเกียรติยศสนองพระคุณตามโบราณราชประเพณี อันจะอำนวยสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแด่พระองค์ และสยามรัฐสีมาอาณาจักร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมราชชนนี ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง…” 

พระราชกรณียกิจด้านศิลปาชีพ 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาค ได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากของประชาชนชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรคือ ชาวสวน ชาวไร่และชาวนา ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ หลากหลาย เช่น ปริมาณผลิตผลไม่คงที่ ดินฟ้าอากาศแปรปรวน ศัตรูพืชรบกวน บางปีต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม หรือภัยแล้ง บางครั้งทำการเพาะปลูกไม่ได้ ผลผลิตราคาตกต่ำ ฯลฯ ชาวไทยในชนบทส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพด้านเกษตรกรรมจึงมีรายได้ไม่แน่นอน จึงมีพระราชดำริที่จะให้ราษฎรมีอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้พอเพียงแก่การยังชีพในภาวะปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงสังเกตเห็นผลงานหัตถกรรมพื้นบ้านหลากหลายประเภทเป็นงานฝีมือพื้นบ้านที่สืบทอดงานศิลปะเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่มีมาช้านานแล้ว โดยใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นของตน โดยเฉพาะงานศิลปะบางอย่างใกล้จะเสื่อมสูญ จึงมีพระราชดำริจะอนุรักษ์และฟื้นฟูงานศิลปะเหล่านั้นให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป 

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

ทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษา ทรงส่งเสริมด้านการศึกษา ด้วยทรงมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษาอยู่เนืองๆ ทรงตระหนักถึงความสำคัญว่า ผลของการศึกษาในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคต พระราชทานทุนการศึกษา และส่งเสริมการพัฒนาความรู้ในด้านต่างๆ ทรงมีกระแสพระราชดำรัส ด้วยความห่วงใยในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยของนักเรียน นิสิตนักศึกษา ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติ เด็กไทยควรมีความรู้ เกี่ยวกับความเป็นมาของประเทศชาติ ว่ามีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนแปลงมาสู่ปัจจุบันได้อย่างไร นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่ราษฎรที่มีบุตรมากและยากจนซึ่งทรงพบทั่วไปในพระราชอาณาจักร ทรงห่วงใยราษฎรตามชนบทที่ขาดการศึกษาเป็นอย่างมาก และทรงมุ่งหวังที่จะให้ราษฎรไทยเป็นประชากรที่มีคุณภาพ พึ่งตนเองได้ ตลอดจนไม่ถูกหลอกลวงโดยผู้ที่มุ่งหวังเอารัดเอาเปรียบผู้ที่มีการศึกษาน้อย ดังนั้นเมื่อได้มีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรและทรงทราบว่าครอบครัวใดมีบุตรที่ยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนแต่ครอบครัวนั้นไม่สามารถส่งบุตรให้ศึกษาต่อจากภาคบังคับได้ ก็จะพระราชทานทุนการศึกษาแก่บุตรของครอบครัวนั้น ๑ คน โดยพิจารณาเด็กที่มีความสามารถพอจะศึกษาให้จบอย่างน้อยหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งเป็นเกณฑ์ เพื่อที่จะกลับมาเป็นที่พึ่งของครอบครัวในการทำมาเลี้ยงชีพ และส่งเสียให้สมาชิกครอบครัวรายอื่นๆได้รับการศึกษาต่อไป ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานทุนการศึกษาแก่เด็กเหล่านี้แล้วเป็นจำนวนหลายพันรายทั่วประเทศ 

พระราชกรณียกิจด้านการสาธารณสุข

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจัดตั้งมูลนิธิสายใจไทย ช่วยเหลือทหาร ตำรวจ  และอาสารับใช้ชาติที่บาดเจ็บ พิการ  พัฒนาอาชีพ ให้ช่วยเหลือตัวเองและมีรายได้เลี้ยงครอบครัว  ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากมูลนิธิสายใจไทยเป็นที่รู้จักและนิยมของคนไทยมาโดยตลอด ในนิทรรศการยังจัดแสดงพระราชกรณียกิจสำคัญ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดคณะแพทย์ตามเสด็จ นำมาสู่หน่วยแพทย์พระราชทานจนทุกวันนี้

สมเด็จพระพันปีหลวงทรงสานต่อโครงการหมอหมู่บ้านของในหลวงรัชกาลที่ ๙ คัดชาวบ้านที่สมัครใจมาอบรม นำความรู้กลับไปช่วยเหลือคนเจ็บป่วยในหมู่บ้าน ส่วนชาวบ้านรู้จักใช้ยาและดูแลรักษาอนามัยเบื้องต้น น้ำพระทัยแผ่ไพศาลทั่วแผ่นดิน ทรงรับองค์กรสาธารณกุศลต่าง ๆ ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์  ขณะที่คนไข้ป่วยหนักยากจนทรงไม่ทอดทิ้งรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทุกชีวิตของราษฎรมีความหมายใต้ร่มพระบารมีสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

พระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมอนุรักษ์ธรรมชาติ

 ด้านการส่งเสริมอนุรักษ์ธรรมชาติ  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “โครงการป่ารักน้ำ” ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการร่วมกันปลูกป่า หลังจากนั้นยังมีโครงการตามพระราชดำริที่ปรากฏขึ้นเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ อาทิ โครงการสวนสัตว์ป่าเปิดภูเขียวตามพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์เต่าทะเล โครงการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า โครงการปลูกป่าเสริมธรรมชาติ โครงการพระราชดำริสวนหาดทรายใหญ่ เป็นต้น